บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบการอ่านคำ ชุดที่ 4

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  ข้อใด อ่าน ผิด  อักขรวิธี
ก.  กรณี  อ่านว่า  กอ – ระ –   นี
ข.  อัคนี  อ่านว่า  อัค – คะ – นี
ค.  วรกาย  อ่านว่า  วอ – ระ – กาย
ง.  มรณา  อ่านว่า  มอ – ระ – นา

ข้อที่  2.  ข้อใด อ่าน ผิด  อักขรวิธี
ก.  ปรัชญา  อ่านว่า  ปรัด – ยา
ข.  สัปดาห์  อ่านว่า  สับ – ปะ – ดา
ค.  อาชญา  อ่านว่า  อาด – ยา
ง.  สรรพสิ่ง  อ่านว่า  สับ – พะ – สิ่ง

ข้อที่  3.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  มณฑป  อ่านว่า  มน – ทบ
ข.  บัณฑิต  อ่านว่า  บัน – ทิด
ค.  มณฑก  อ่านว่า  มน – ทก
ง.  มณฑล  อ่านว่า  มน – ทน

ข้อที่  4.  ข้อใด อ่านถูกอักขรวิธี
ก.  คุณโทษ   อ่านว่า  คุณ – โทด
ข.  คุณธรรม  อ่านว่า  คุน – นะ – ทำ
ค.  คุณค่า  อ่านว่า  คุน – นะ – ค่า
ง.  คุณภาพ  อ่านว่า  คุน – นะ – พาบ

ข้อที่  5.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  จักจั่น  อ่านว่า  จัก – กะ – จั่น
ข.  ตั๊กแตน  อ่านว่า  ตั๊ก – กะ – แตน
ค.  ชุกชี  อ่านว่า  ชุก – กะ – ชี
ง.  วิตถาร  อ่านว่า  วิด – ตะ – ถาน

ข้อที่  6.  ข้อใด อ่านถูกอักขรวิธี
ก.  ปราชัย  อ่านว่า  ปะ – รา – ชัย
ข.  ผลิตผล  อ่านว่า  ผลิด – ผน
ค.  สัพยอก  อ่านว่า  สับ – พะ – ยอก
ง.  สัปดน  อ่านว่า  สับ – ปะ – ดน

ข้อที่  7.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  สมรรถภาพ  อ่านว่า  สะ – มัด – ถะ – พาบ
ข.  มรรยาท  อ่านว่า  มัน – ระ – ยาด
ค.  พรรษา  อ่านว่า  พัน – สา
ง.  พรรดึก  อ่านว่า  พัน – ระ – ดึก

เฉลย

ข้อที่  1.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  กรณี  อ่านว่า  กอ – ระ –   นี
ข.  อัคนี  อ่านว่า  อัค – คะ – นี
ค.  วรกาย  อ่านว่า  วอ – ระ – กาย
ง.  มรณา  อ่านว่า  มอ – ระ – นา

วิเคราะห์

คำในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
กรณี  [กะระ-, กอระ-] น. คดี, เรื่อง, เหตุ, เช่น ในกรณีนี้ = ในเรื่องนี้. (ป., ส. กรณี ว่า ที่เป็นเหตุกระทํา).
อัคนิ, อัคนี   [อักนิ, อักคะนิ, อักนี, อักคะนี] น. ไฟ; ชื่อเทพแห่งไฟ. (ส. อคฺนิ; ป. อคฺคิ).
วร  [วะระ, วอระ] น. พร; ของขวัญ. ว. ยอดเยี่ยม, ประเสริฐ, เลิศ. (ป., ส.).
มรณ-, มรณ์, มรณะ  [มอระนะ-, มะระนะ-, มอน, มอระนะ] น. ความตาย, การตาย. (ป., ส.). ก. ตาย.
โดยสรุป  ทุกข้ออ่านถูกหมด
ข้อสอบนี้ เป็นข้อสอบเก่า เมื่อพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การอ่านตามความนิยม (อ่านผิด แต่อ่านผิดกันมาก) เป็นคำอ่านที่ถูกต้องด้วย  จึงทำให้ข้อสอบผิดพลาด

ข้อที่  2.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  ปรัชญา  อ่านว่า  ปรัด – ยา
ข.  สัปดาห์  อ่านว่า  สับ – ปะ – ดา
ค.  อาชญา  อ่านว่า  อาด – ยา
ง.  สรรพสิ่ง  อ่านว่า  สับ – พะ – สิ่ง

วิเคราะห์

คำในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

ปรัชญา  [ปฺรัดยา, ปฺรัดชะยา] น. วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง. (ส.).
สัปดาห์, สัปดาหะ  [สับดา, สับปะดา, สับดาหะ] น. รอบ ๗ วัน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์, ระยะ ๗ วัน เช่น สัปดาห์แห่งการส่งเสริมพระพุทธศาสนาสัปดาห์แห่งการเขียนจดหมาย. (ส. สปฺตาห).
อาชญา  [อาดยา, อาดชะยา] น. อํานาจ; โทษ (มักใช้สําหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้านาย) เช่น พระราชอาชญา. (ส.; ป. อาณา);
(กฎ; โบ; เลิก) คดีที่เกี่ยวกับโทษหลวง เรียกว่า คดีอาชญา หรือ ความอาชญา, คู่กับความแพ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยโทษหลวง เช่นความมรดก;
ศาลที่ชําระความเกี่ยวกับโทษหลวง เรียกว่า ศาลอาชญา คู่กับ ศาลแพ่ง ซึ่งชําระความแพ่ง;
คํา อาชญา นี้ปัจจุบันนิยมใช้คํา อาญา เป็นพื้น.
สรรพ, สรรพ  [สับ, สับพะ] ว. ทุกสิ่ง, ทั้งปวง, ทั้งหมด, เช่น พร้อมสรรพ งามสรรพ เสร็จสรรพ สรรพสิ่ง สรรพสินค้า. (ส. สรฺว; ป. สพฺพ).
โดยสรุป  ทุกข้ออ่านถูกหมด
ข้อสอบนี้ เป็นข้อสอบเก่า เมื่อพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การอ่านตามความนิยม (อ่านผิด แต่อ่านผิดกันมาก) เป็นคำอ่านที่ถูกต้องด้วย  จึงทำให้ข้อสอบผิดพลาด

ข้อที่  3.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  มณฑป  อ่านว่า  มน – ทบ
ข.  บัณฑิต  อ่านว่า  บัน – ทิด
ค.  มณฑก  อ่านว่า  มน – ทก
ง.  มณฑล  อ่านว่า  มน – ทน

วิเคราะห์

คำในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

มณฑป  [มนดบ] น. เรือนยอดขนาดใหญ่มีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือเป็นรูปตัด มุมหรือย่อไม้แปด ย่อไม้สิบสอง ยอดหลังคาเป็นทรงจอมแห, ใช้ว่า มรฑป ก็มี.(ป., ส.);
ขันนํ้าเย็นของพระเจ้าแผ่นดินที่มีฝาเป็นรูปอย่างมณฑป เรียกว่าพระมณฑป.
บัณฑิต  [บันดิด] น. ผู้ทรงความรู้, ผู้มีปัญญา, นักปราชญ์, ผู้สําเร็จการศึกษาขั้นปริญญาซึ่งมี ๓ ขั้น คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรียกว่า บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต, ผู้มีความสามารถเป็นพิเศษโดยกําเนิด เช่น คนนี้เป็นบัณฑิตในทางเล่นดนตรี. (ป., ส. ปณฺฑิต).
มณฑก ๑  [-ทก] น. กบ (สัตว์), ใช้ว่า มัณฑุก หรือ มณฑุก ก็มี. (ป., ส. มณฺฑูก).
มณฑก ๒  [-ทก] (โบ) น. เรียกปืนเล็กยาวชนิดหนึ่งว่า ปืนมณฑก. (อ. bundook).
มณฑล  [มนทน] น. วง เช่น สุริยมณฑล คือ วงรอบดวงอาทิตย์ จันทรมณฑล คือ วงรอบดวงจันทร์, บริเวณ เช่น มณฑลพิธี, เขตปกครองที่แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ๆ; พระแท่นที่วงด้ายสายสิญจน์ เรียกว่า พระแท่นมณฑล. (ป., ส.).
ข้อ ก. และ ข้อ ข. เป็นคำตอบที่ถูกต้อง

ข้อที่  4.  ข้อใด อ่านถูกอักขรวิธี
ก.  คุณโทษ   อ่านว่า  คุณ – โทด
ข.  คุณธรรม  อ่านว่า  คุน – นะ – ทำ
ค.  คุณค่า  อ่านว่า  คุน – นะ – ค่า
ง.  คุณภาพ  อ่านว่า  คุน – นะ – พาบ

วิเคราะห์

คำในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

คุณ, คุณ-  [คุน, คุนนะ-] น. ความดีที่มีประจําอยู่ในสิ่งนั้นๆ; ความเกื้อกูลเช่น รู้คุณ. (ป., ส.); คําที่ใช้เรียกนําหน้าบุคคลเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณสมร;
คํานําหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตั้งแต่ชั้นจตุตถจุลจอมเกล้าถึงชั้นทุติยจุลจอมเกล้า, คำนำหน้าชื่อสตรีที่ยังไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายในชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษขึ้นไป;
(ไว) คําแต่งชื่อ. ส. คําใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เป็นคําสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒, (ปาก) คําใช้แทนผู้ที่เราพูดถึงด้วยความสุภาพ, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓, เช่น คุณอยู่ไหม ช่วยไปเรียนว่ามีคนมาหา.
คุณธรรม  [คุนนะ-] น. สภาพคุณงามความดี.
คุณค่า  [คุนค่า, คุนนะค่า] น. สิ่งที่มีประโยชน์หรือมีมูลค่าสูง.
คุณภาพ [คุนนะ-] น. ลักษณะที่ดีเด่นของบุคคลหรือสิ่งของ.

โดยสรุป  ทุกข้ออ่านถูกหมด
ข้อสอบนี้ เป็นข้อสอบเก่า เมื่อพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การอ่านตามความนิยม (อ่านผิด แต่อ่านผิดกันมาก) เป็นคำอ่านที่ถูกต้องด้วย  จึงทำให้ข้อสอบผิดพลาด

ข้อที่  5.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  จักจั่น  อ่านว่า  จัก – กะ – จั่น
ข.  ตั๊กแตน  อ่านว่า  ตั๊ก – กะ – แตน
ค.  ชุกชี  อ่านว่า  ชุก – กะ – ชี
ง.  วิตถาร  อ่านว่า  วิด – ตะ – ถาน

วิเคราะห์

คำในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

จักจั่น  [จักกะ-] ดู กระพี้นางนวล.
ตั๊กแตน  [ตั๊กกะ-] น. ชื่อแมลงหลายชนิดในหลายวงศ์ ลําตัวยาว มีขนาดต่างๆ กันอาจมีปีกหรือไม่มีก็ได้
ชุกชี  [ชุกกะ] น. ฐานปูนสําหรับประดิษฐานพระประธานเป็นต้น, จุกชี ก็ว่า.
วิตถาร  [วิดถาน] ว. กว้างขวาง, มากเกินไป, พิสดาร. (ป.; ส. วิสฺตาร); นอกแบบ, นอกทาง, (เกินวิสัยปรกติ) เช่น พวกเด็ก ๆ ชอบเล่นวิตถาร เอาน้ำสกปรกผสมแป้งสาดเข้าไปในรถประจำทางในวันสงกรานต์.

ข้อ ง. เป็นคำตอบที่ถูก

ข้อที่  6.  ข้อใด อ่านถูกอักขรวิธี
ก.  ปราชัย  อ่านว่า  ปะ – รา – ชัย
ข.  ผลิตผล  อ่านว่า  ผลิด – ผน
ค.  สัพยอก  อ่านว่า  สับ – พะ – ยอก
ง.  สัปดน  อ่านว่า  สับ – ปะ – ดน

วิเคราะห์

คำในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

ปราชัย  [ปะราไช] น. ความพ่ายแพ้. ก. พ่ายแพ้. (ป.).
ผลิต, ผลิต  [ผะหฺลิด, ผะหฺลิดตะ] ก. ทําให้เกิดมีขึ้นตามที่ต้องการด้วยอาศัยแรงงานหรือเครื่องจักรเป็นต้น เช่น ผลิตข้าว ผลิตรถยนต์ ผลิตครูผลิตบัณฑิต. (ป.).
ผลิตผล น. ผลที่ทําขึ้น, ผลที่ได้จากการผลิตด้วยอาศัยแรงหรือเครื่องจักรเป็นต้น.
สัพยอก [สับพะยอก] ก. หยอกเย้า เช่น ผู้ใหญ่สัพยอกเด็กว่าเป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อ. ว. ที่พูดหยอกเย้า เช่น อย่าโกรธเลย เขาพูดจาสัพยอกเท่านั้น, มักใช้เข้าคู่กันเป็น สัพยอกหยอกเย้า เช่น พูดจาสัพยอกหยอกเย้า.
สัปดน [สับปะดน] ว. หยาบโลน เช่น พูดสัปดนสองแง่สองง่าม, อุตรินอกแบบนอกแผน เช่น เด็กคนนี้ชอบเล่นสัปดน เอาประทัดผูกหางหมาแล้วจุด, (ปาก) ใช้ว่า สัปโดกสัปดน.

โดยสรุป  ทุกข้ออ่านถูกหมด
ข้อสอบนี้ เป็นข้อสอบเก่า เมื่อพจนานุกรมฉบับปัจจุบัน กำหนดให้การอ่านตามความนิยม (อ่านผิด แต่อ่านผิดกันมาก) เป็นคำอ่านที่ถูกต้องด้วย  จึงทำให้ข้อสอบผิดพลาด

ข้อที่  7.  ข้อใด อ่าน ผิด อักขรวิธี
ก.  สมรรถภาพ  อ่านว่า  สะ – มัด – ถะ – พาบ
ข.  มรรยาท  อ่านว่า  มัน – ระ – ยาด
ค.  พรรษา  อ่านว่า  พัน – สา
ง.  พรรดึก  อ่านว่า  พัน – ระ – ดึก

วิเคราะห์

คำในคำตอบดังกล่าว พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

สมรรถภาพ  [สะมัดถะ, สะหฺมัดถะ] น. ความสามารถ เช่น เขาเป็นคนมีสมรรถภาพในการทำงานสูงสมควรได้เลื่อนตำแหน่ง.
มรรยาท  [มันยาด] น. กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาลเทศะ, มารยาท ก็ว่า. (ส. มรฺยาทา;ป. มริยาท).
พรรษา  [พันสา] น. ช่วงระยะเวลา ๓ เดือนในฤดูฝน เช่น เข้าพรรษาจําพรรษา; ปี เช่น บวช ๓ พรรษา, (ราชา) มีพระชนมายุ ๒๕ พรรษา. (ส. วรฺษ; ป. วสฺส, วสฺสาน).
พรรดึก  [พันระ] น. อุจจาระที่เป็นก้อนแข็งกลม.


ข้อ ข. เป็นคำตอบที่ถูก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น