บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ข้อสอบการอ่านคำ ชุดที่ 1

ขอให้ท่านทำข้อสอบก่อน โดยจดคำตอบไว้ แล้วไปดูเฉลยด้านล่าง

ข้อที่  1.  ข้อในต่อไปนี้ ข้อใดพยางค์แรกออกเสียง “อะ”
ก.  อรไท
ข.  อรพินท์
ค.  อรหันต์
ง.  อรชร

ข้อที่  2.  ข้อใดตัว “ฑ” ออกเสียง “ด”
ก.  บัณฑูร
ข.  บัณเฑาะว์
ค.  มณฑก
ง.  มณฑล

ข้อที่  3.  ข้อใด อ่านออกเสียง “มิ” กลางคำ
ก.  ภูมิฐาน
ข.  ภูมิธรรม
ค.  ภูมิภาค
ง.  ภูมิลำเนา

ข้อที่  4.  ข้อใด อ่านผิดอักขรวิธี
ก.  จรรยา  อ่านว่า  จัน – ยา
ข.  บรรยาย  อ่านว่า บัน – ระ- ยาย
ค.  ภรรยา  อ่านว่า  พัน – ระ – ยา
ง.  มรรยาท  อ่านว่า  มัน -ยาด

ข้อที่  5.  ข้อใด อ่านผิดอักขรวิธี
ก.  ตำรับ  อ่านว่า  ตำ – หรับ
ข.  บำราบ  อ่านว่า บำ – หราบ
ค.  บำราศ  อ่านว่า  บำ – หราด
ง.  กำราบ  อ่านว่า  กำ -หราบ

ข้อที่  6.  ข้อใด อ่านถูกอักขรวิธี
ก.  ปรโลก  อ่านว่า  ปอ – ระ – โลก
ข.  ปรปักษ์  อ่านว่า ปอ – ระ – ปัก
ค.  ปราชัย  อ่านว่า  ปะ – รา – ไช
ง.  ปรมัตถ์  อ่านว่า  ปอ – ระ – มัด

ข้อที่  7.  ข้อใด อ่านผิดอักขรวิธี
ก.  ปริมาณ  อ่านว่า  ปอ – ริ – มาน
ข.  บริวาร  อ่านว่า บอ – ริ – วาน
ค.  บริเวณ  อ่านว่า บอ – ริ – เวน
ง.  บริษัท  อ่านว่า บอ – ริ – ษัท

เฉลย

ข้อที่  1.  ข้อนต่อไปนี้ ข้อใดพยางค์แรกออกเสียง “อะ”
ก.  อรไท
ข.  อรพินท์
ค.  อรหันต์
ง.  อรชร

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค.
คำว่า “อรหันต์” พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
อรหันต, อรหันต์  [อะระหันตะ, ออระหันตะ, อะระหัน, ออระหัน] น. ชื่อพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดใน ๔ ชั้น คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ เรียกว่า พระอรหันต์. (ศัพท์นี้ใช้ อรหาหรือ อรหัง ก็มี แต่ถ้าใช้เป็นคําวิเศษณ์หรืออยู่หน้าสมาสต้องใช้อรหันต). (ป.; ส. อรฺหนฺต).
จะเห็นว่า  “อ” ในคำว่า “อรหันต์” ออกเสียง “อะ” ก็ได้  ออกเสียง “ออ” ก็ได้

ข้อที่  2.  ข้อใดตัว “ฑ” ออกเสียง “ด”
ก.  บัณฑูร
ข.  บัณเฑาะว์
ค.  มณฑก
ง.  มณฑล

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.
คำว่า “บัณเฑาะว์” พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
บัณเฑาะว์ [บันเดาะ] น. กลองสองหน้าขนาดเล็กชนิดหนึ่งมีหลักอยู่ตอนบนผูกตุ้มห้อยลงมาทางหน้ากลอง ใช้ไกวให้ตุ้มแกว่งกระทบหน้ากลองทั้ง ๒ ข้าง. (ป. ปณว; ส. ปฺรณว).

ข้อที่  3.  ข้อใด อ่านออกเสียง “มิ” กลางคำ
ก.  ภูมิฐาน
ข.  ภูมิธรรม
ค.  ภูมิภาค
ง.  ภูมิลำเนา

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ค.
คำว่า “ภูมิภาค” พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
ภูมิภาค  [พูมมิ–, พูมิ–] น. หัวเมือง; (ภูมิ) อาณาบริเวณที่มีลักษณะบางอย่างเช่นลักษณะทางธรรมชาติ ทางเศรษฐกิจ ทางวัฒนธรรม ทางการเมืองคล้ายคลึงกันจนสามารถจัดเข้าพวกกันได้ และแตกต่างกับบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ.

ข้อที่  4.  ข้อใด อ่านผิดอักขรวิธี
ก.  จรรยา  อ่านว่า  จัน – ยา
ข.  บรรยาย  อ่านว่า บัน – ระ- ยาย
ค.  ภรรยา  อ่านว่า  พัน – ระ – ยา
ง.  มรรยาท  อ่านว่า  มัน -ยาด

วิเคราะห์

โจทย์ข้อนี้มีปัญหา น่าจะเกิดจากข้อสอบเก่ามาก [ผมเอามาจากหนังสือคู่มือสอบวิชาภาษาไทย]  คำทั้ง 4 คำนั้น พจนานุกรมฉบับปัจจุบันเขียนไว้ ดังนี้

จรรยา  [จัน-] น. ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติในหมู่ในคณะ เช่น จรรยาแพทย์, นิยมใช้ในทางดี เช่น มีจรรยา หมายความว่า มีความประพฤติที่ดี. (ส. จรฺยา; ป. จริยา).
บรรยาย  [บันยาย, บันระยาย] ก. ชี้แจงหรืออธิบายเรื่องให้ฟังเป็นต้น, เล่าเรื่อง เช่น ภาพยนตร์มีอักษรไทยบรรยายกํากับไว้. (ส.).
ภรรยา [พันยา, พันระยา] น. ภริยา, เมีย, หญิงที่เป็นคู่ครองของชาย, คู่กับ สามี. (ส. ภารฺยา; ป. ภริยา).
มรรยาท  [มันยาด] น. กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาลเทศะ, มารยาท ก็ว่า. (ส. มรฺยาทา;ป. มริยาท).

จะเห็นว่า คำว่า “บรรยาย” กับ “ภรรยา” อ่านได้ 2 แบบแล้ว  ดังนั้น  ข้อสอบในยุคนี้ ก็ไม่น่าจะออกข้อสอบแบบนี้ขึ้นมาอีก

ข้อที่  5.  ข้อใด อ่านผิดอักขรวิธี
ก.  ตำรับ  อ่านว่า  ตำ – หรับ
ข.  บำราบ  อ่านว่า บำ – หราบ
ค.  บำราศ  อ่านว่า  บำ – หราด
ง.  กำราบ  อ่านว่า  กำ -หราบ

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ข.  
คำว่า “บำราศ” พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้
บำราศ  [บําราด] ก. หายไป, จากไป, พรากไป, ปราศจาก.

ข้อที่  6.  ข้อใด อ่านถูกอักขรวิธี
ก.  ปรโลก  อ่านว่า  ปอ – ระ – โลก
ข.  ปรปักษ์  อ่านว่า ปอ – ระ – ปัก
ค.  ปราชัย  อ่านว่า  ปะ – รา – ไช
ง.  ปรมัตถ์  อ่านว่า  ปอ – ระ – มัด

วิเคราะห์

โจทย์ข้อนี้มีปัญหา น่าจะเกิดจากข้อสอบเก่ามากเช่นเดียวกับข้อที่ 4 คำทั้ง 4 คำนั้น พจนานุกรมฉบับปัจจุบันเขียนไว้ ดังนี้

ปรโลก  [ปะระ-, ปอระ-] น. โลกหน้า.
ปร-  [ปะระ-, ปอระ-] ว. อื่น, ใช้เป็นบทหน้าสมาส เช่น ปรปักษ์ ปรโลก. (ป.).
ปร-ปักษ์  [ปอระ-] น. ข้าศึก, ศัตรู, ฝ่ายตรงข้าม.
ปราชัย  [ปะราไช] น. ความพ่ายแพ้. ก. พ่ายแพ้. (ป.).
ปรมัตถ์  [ปะระมัด, ปอระมัด] น. ประโยชน์อย่างยิ่ง, เนื้อความอย่างยิ่ง, ความจริงอันเป็นที่สุด; ชื่อพระอภิธรรมปิฎก. ว. ลึกซึ้งยากที่ปุถุชนจะเข้าใจได้ เช่น นี่เป็นเรื่องปรมัตถ์. (ป.).
จะเห็นได้ว่า พจนานุกรมยอมให้มีการอ่าน 2 แบบได้มากขึ้น

ข้อที่  7.  ข้อใด อ่านผิดอักขรวิธี
ก.  ปริมาณ  อ่านว่า  ปอ – ริ – มาน
ข.  บริวาร  อ่านว่า บอ – ริ – วาน
ค.  บริเวณ  อ่านว่า บอ – ริ – เวน
ง.  บริษัท  อ่านว่า บอ – ริ – ษัท

วิเคราะห์

คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ ก.  
คำว่า “บำราศ” พจนานุกรมเขียนไว้ ดังนี้

ปริมาณ  [ปะริมาน] น. กําหนดความมากน้อยของจํานวน.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น